ความเป็นมาของเกาะพุทธธรรม
กาจ รักษ์มณี
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน
ระหว่างที่ข้าพเจ้าย้ายมาเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ข้าพเจ้าได้มีโอกาสมากราบนมัสการหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2528 ที่วัดสนามใน จังหวัดนนทบุรี เนื่องจากมีผู้นำหนังสือธรรมะของหลวงพ่อมาฝากไว้ให้ที่บ้าน จึงนับเป็นโชคดีของข้าพเจ้าอย่างยิ่งและข้าพเจ้าขอให้ท่านผู้นำหนังสือมาฝากไว้ให้ข้าพเจ้าได้โปรดรับความขอบพระคุณและอนุโมทนาในกุศลกรรมที่ท่านได้กระทำในครั้งนี้ด้วย
เบื้องหน้าของหลวงพ่อ คือเกาะพุทธธรรม
|
ข้าพเจ้ามีความสนใจศึกษาธรรมะมามากพอสมควร เมื่อได้อ่านหนังสือธรรมะของหลวงพ่อ แล้วก็รู้ได้ว่าเป็นแนวทางที่ถูกกับจริตของตนเอง ธรรมะของหลวงพ่อไม่ได้ประกอบด้วยศัพท์แสงใด ๆ ที่มักจะใช้ในหนังสือที่เกี่ยวกับพุทธศาสนาซึ่งข้าพเจ้าไม่สู้สันทัดนัก อุปมาอุปมัยที่หลวงพ่อนำมาพูดในการสอนธรรมะเป็นเรื่องธรรมชาติพื้น ๆ ทำให้ข้าพเจ้าซึ่งเป็นเด็กบ้านนอกมาก่อน สามารถเห็นภาพพจน์และเข้าใจได้อย่างแจ่มชัด อาทิ น้ำในรอยเท้าควาย หลวงพ่อเปรียบจิตใจของคนที่ยังไม่ได้รับการอบรมขัดเกลา เหมือนกับน้ำในโคลนตมที่ควายเพิ่งเหยียบไปหมาด ๆ ย่อมขุ่นเพราะมีดินมีโคลนผสมอยู่ ครั้นเมื่อเวลาผ่านไปสักครู่ น้ำในรอยเท้าควายนั้นก็จะกลับใสเหมือนเดิม เพราะตะกอนนอนก้นแล้ว จิตใจของบุคคลที่มองเห็นกิเลส รู้จักกิเลสแล้วก็เช่นเดียวกัน กิเลสไม่อาจรบกวนให้เกิดทุกข์ได้
ธรรมะของหลวงพ่อนั้นเป็นธรรมะระดับปัญญา ท่านให้เจริญสติให้ต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ จนเกิดปัญญาญาณที่จะไปทำความทุกข์ให้จบสิ้นลง เปรียบเสมือนน้ำแต่ละหยดเมื่อรวมกันเป็นปริมาณมากก็ย่อมเกิดพลังทำสิ่งต่าง ๆ ได้ ศาสนาอื่น ๆ นั้นสอนให้เป็นคนดี นับเป็นระดับศีล ยังมิได้สอนให้ถึงซึ่งความหลุดพ้น อันเป็นระดับปัญญา ดังที่หลวงพ่อสอน
คำสอนของหลวงพ่อนั้นมีคุณค่ายิ่งหากรู้จักนำไปใช้กับชีวิตของตน เช่น ท่านสอนให้มีความพอดี มีความปกติ สำหรับอานิสงส์ในชาติหน้านั้น หลวงพ่อไม่ให้ใส่ใจ ท่านพูดแต่เพียงว่า เมื่อปฏิบัติแล้วจะรู้เอง
สำหรับตัวข้าพเจ้านั้นเมื่อปฏิบัติแล้วก็เห็นผลเป็นที่ประจักษ์มีความเบากาย เบาใจ สุขกาย สุขใจ มีความปรารถนาที่จะอุปัฏฐากรับใช้หลวงพ่อ หวังอยากให้หลวงพ่อช่วยคนให้มาก ๆ ซึ่งหลวงพ่อก็ได้ให้กำลังใจแก่ข้าพเจ้าเสมอมา
ดังนั้นเมื่อหลวงพ่อปรารภกับข้าพเจ้าว่า ทับมิ่งขวัญสถานที่ปฏิบัติธรรมซึ่งได้ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 นั้น ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเลย ตลิ่งด้านหนึ่งถูกน้ำเซาะ ทำให้พื้นที่ 3 ไร่เศษนั้นเล็กลงเรื่อย ๆ ที่ฝั่งตรงข้ามทับมิ่งขวัญมีที่สาธารณะหรือที่ป่าอยู่ หากตัดแม่น้ำเลยจะได้ที่ดินเพิ่มขึ้นอีก 30-40 ไร่ สามารถก่อตั้งเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมได้ หลวงพ่อท่านมีความหวังอย่างยิ่งที่จะขยายบริเวณสำหรับปฏิบัติธรรมเพื่อรับผู้ปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น ข้าพเจ้าจึงน้อมรับจะเป็นผู้ดำเนินการให้ความประสงค์ของหลวงพ่อสัมฤทธิ์ผล
ข้าพเจ้าได้นำความประสงค์ของหลวงพ่อไปแจ้งให้หน่วยงานและบุคคลที่เกี่ยวข้องทราบ ซึ่งได้แก่ กรป. รพช. ที่จังหวัดเลย เทศบาลจังหวัดเลย และพลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ในฐานะที่ข้าพเจ้าได้เคยร่วมงานกับท่านมาก่อน หลังจากนั้นจึงได้จัดให้มีการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้อง อันได้แก่รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายกเทศมนตรี ผู้แทน กรป. รพช. และได้มีหนังสือขอความร่วมมือจากหน่วยเหนือ
หลวงพ่อดูแลการพัฒนาเกาะพุทธธรรม
|
เมื่อคำนวณค่าใช้จ่ายในการขุดร่องน้ำแล้วคิดเป็นเงิน 4 แสนบาท เทศบาลมีงบประมาณอยู่ 1 แสน 2 หมื่นบาท สำหรับเครื่องจักรและค่าน้ำมันเชื้อเพลิงนั้นทาง กรป.จะเป็นผู้รับผิดชอบในวงเงิน 208,000 บาท หลวงพ่อและข้าพเจ้าจะต้องหาเงินมาเพิ่มเพื่อการนี้เป็นจำนวน 8 หมื่น ถึง 1 แสนบาท
บังเอิญเมื่อข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตนั้น ข้าพเจ้าไปรู้จักชอบพอกับนายแพทย์ชัยยุทธ กรรณสูตร และหม่อมหลวงตรีทศยุทธ เทวกุล ซึ่งได้ไปลงทุนทำธุรกิจที่นั่น และเมื่อครั้งที่หลวงพ่อเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสมิติเวชนั้น ข้าพเจ้าได้นำคุณหมอชัยยุทธไปกราบเยี่ยมถวายปัจจัย และได้สนทนาธรรมกับหลวงพ่อ ดังนั้น เมื่อข้าพเจ้าแสดงความประสงค์ของหลวงพ่อให้ทราบ ท่านทั้งสองนี้ก็ได้มีจิตศรัทธาถวายปัจจัยรวมทั้งสิ้น 80,000.- บาท
โครงการจึงได้เริ่มขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2529 ขณะนั้นเป็นต้นฤดูฝน จึงเป็นที่วิตกกันว่า ฝนอาจจะตกลงมาเป็นอุปสรรคในการขุด อย่างไรก็ตามคณะผู้ปฏิบัติงานก็ได้ตัดสินใจลองเสี่ยงลงมือทำการขุดโดยทางจังหวัด กรป. และ รพช. ได้วางแผนงานร่วมกัน ทั้งนี้พลเอกอาทิตย์ กำลังเอก ก็ได้อนุมัติและให้การสนับสนุน เมื่อทำการขุดไปได้ลึกเพียง 5 เมตรตลอดสาย ก็มีฝนตก ทำให้มีน้ำไหลบ่ามากระแทกส่วนที่เหลือทั้งหมดให้กลายเป็นร่องน้ำได้ โดยที่ตามความเป็นจริงแล้วจะต้องทำการขุดลึกถึง 20 เมตรตลอดสาย จึงจะทำให้เป็นร่องน้ำได้ นับเป็นโชคดีอย่างคาดไม่ถึง การขุดร่องน้ำตัดแม่น้ำเลยซึ่งเป็นเรื่องยาก จึงกลับกลายเป็นเรื่องง่ายไป
ที่เกาะพุทธธรรม
|
ปัญหาต่อมาคือปัญหากรรมสิทธิ์ที่ดิน ที่ดินบางส่วนในบริเวณนั้นมีผู้ครอบครองอยู่ หลวงพ่อท่านได้ชี้แจงให้บุคคลเหล่านั้นทราบว่าสิ่งที่ท่านทำอยู่นี้ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวม และท่านได้หาทางประนีประนอมโดยจ่ายเงินให้กับผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วน ปัญหาในส่วนนี้จึงค่อยคลี่คลายไป
หลังจากนั้นจึงได้เริ่มลงมือพัฒนาพื้นที่ส่วนที่ไม่มีปัญหาก่อน มีญาติโยม ลูกศิษย์ของหลวงพ่อมาช่วยกันวางแผนงาน หักร้างถางพง ปลูกต้นไม้ ปลูกกุฏิ มีคุณแม่รัตน์ คุณแม่ดอกไม้ เป็นผู้เสียสละนำหน้า ข้าพเจ้าเองก็ได้คอยให้การสนับสนุน หาไม้ พันธุ์ไม้ ดิน หิน มาให้ ต่อมาก็เริ่มมีผู้มองเห็นและเข้าใจในปฏิปทาของหลวงพ่อ เกิดความศรัทธาเลื่อมใสมาช่วยร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น หลวงพ่อท่านได้ตั้งชื่อสถานที่นี้ว่า เกาะพุทธธรรม และในวันที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2531 หลวงพ่อได้เปิดการอบรมที่นี่ขึ้นเป็นครั้งแรก
ในช่วง 2 ปีหลังนี้ หลวงพ่อได้เดินทางมาที่ทับมิ่งขวัญเป็นประจำ ท่านเป็นผู้วางแผน และดำเนินการพัฒนาเกาะพุทธธรรมทุก ๆ ด้าน โดยท่านมีความหวังอย่างยิ่งที่จะให้ทับมิ่งขวัญ และเกาะพุทธธรรมนั้น คงอยู่ต่อไป แม้ชีวิตของท่านจะหาไม่แล้วก็ตาม